phone

ทำไมต้องให้ความสำคัญกับฟันน้ำนมของเจ้าตัวเล็ก

ทำไมต้องให้ความสำคัญกับฟันน้ำนมของเจ้าตัวเล็ก
        ฟันเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญกับเรามาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสวยงาม หรือการบดเคี้ยวอาหาร แต่บางคนมักจะมองข้ามความสำคัญของฟันน้ำนม เพราะคิดว่าอีกไม่นานก็หลุดไปแล้ว เดี๋ยวก็มีฟันแท้ขึ้นมา แต่ทราบหรือไม่ว่า ฟันน้ำนมมีผลกับฟันแท้โดยตรง ถ้าฟันน้ำนมไม่ดี อาจส่งผลให้ฟันแท้ไม่ดีไปด้วย
       
       วันนี้เราจึงมีบทความดีๆ จากทันตแพทย์หญิง ฐานิต เตชะทักขิญพันธ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมสำหรับเด็กจากโรงพยาบาลเวชธานีมาฝากคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องดูแลฟันเจ้าตัวเล็กกันค่ะ เริ่มจากไปรู้จักหน้าที่ของฟันน้ำนมกันก่อนเลย
       
       ฟันน้ำนมทำหน้าที่อะไรบ้าง
       
       1.บดเคี้ยวอาหาร
       
       ถ้าเด็กๆ มีฟันผุเป็นรู ปวดฟัน หรือสูญเสียฟันน้ำนมไปก่อนเวลาอันควร จะรับประทานอาหารได้ไม่เต็มที่ หรือเคี้ยวอาหารได้ไม่ดี ขาดสารอาหาร ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเด็ก ทำให้ระบบย่อยอาหารของเด็กต้องทำงานหนัก เด็กจะหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่แข็งและเหนียว ได้แก่ เนื้อสัตว์ ผัก และผลไม้ แต่จะเลือกรับประทานอาหารนิ่มๆ เช่น อาหารจำพวกแป้ง ส่งผลต่ออุปนิสัยในการเลือกรับประทานอาหารของเด็กในอนาคต อาจทำให้เสี่ยงในการเป็นโรคต่างๆ เช่น โรคอ้วน เบาหวาน ฯลฯ
       
       2.เป็นตัวกันพื้นที่ไว้ให้ฟันแท้
       
       ฟันน้ำนมทำหน้าที่เป็นเครื่องกันพื้นที่ตามธรรมชาติให้กับฟันแท้ซี่ที่อยู่ข้างใต้ หากเด็กสูญเสียฟันน้ำนมไปก่อนเวลาอันควร ฟันน้ำนม หรือฟันแท้ที่อยู่ข้างเคียงจะล้มเข้ามาในช่องว่าง ซึ่งอาจส่งผลขัดขวางการขึ้นของฟันแท้ในบริเวณดังกล่าว และทำให้ฟันแท้ซ้อนเกได้
       
       3.ช่วยให้เด็กสามารถออกเสียงพูดได้อย่างชัดเจน
       
       เนื่องจากฟันเป็นอวัยวะหนึ่งของร่างกายที่ใช้ในการออกเสียงพูด ดังนั้น หากเด็กเสียฟันน้ำนมไปก็อาจทำให้เด็กมีพัฒนาการในการพูดช้ากว่าปกติ และการพูดจาไม่ชัดเจนอาจติดนิสัยไปจนโตได้
       
       4.ความสวยงามของใบหน้า
       
       หากเด็กสูญเสียฟันไป อาจส่งผลต่อบุคลิกภาพ ทำให้เด็กสูญเสียความมั่นใจ ถูกล้อเลียนและเกิดปมด้อยได้
       
       5.กระตุ้นการเจริญเติบโตของขากรรไกร
       
       แรงบดเคี้ยวจากฟันน้ำนมจะกระตุ้นการเจริญเติบโตของขากรรไกรให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อให้มีพื้นที่เพียงพอสำหรับฟันแท้ที่มีขนาดใหญ่กว่าฟันน้ำนม
       
       การทำความสะอาดช่องปากของเด็ก ควรเริ่มเมื่อใด
       
       การทำความสะอาดช่องปากของเด็กควรทำตั้งแต่แรกเกิด แม้จะยังไม่มีฟันแต่อาจมีคราบน้ำนมติดค้างในช่องปากและเป็นแหล่งอาหารให้เชื้อโรคต่างๆ มาสะสมได้ นอกจากนี้ ยังเป็นการฝึกนิสัยให้เคยชินกับการทำความสะอาดช่องปากด้วย การทำความสะอาดช่องปากเด็กทารกทำได้โดยการใช้ผ้าก๊อซ หรือผ้าอ้อมสะอาดจุ่มน้ำต้มสุกอุ่นๆ เช็ดในช่องปากให้ทั่วทั้งกระพุ้งแก้ม สันเหงือก และลิ้น เด็กส่วนใหญ่จะร้องงอแง คุณพ่อคุณแม่ต้องอดทนใจเย็นๆ และทำต่อไปเพื่อให้เด็กเข้าใจว่าเป็นสิ่งที่ไม่น่ากลัว และต้องทำเป็นประจำ ซึ่งจะทำให้เด็กปรับตัวยอมรับการแปรงฟันต่อไปได้ดียิ่งขึ้น
       
       นัดครั้งแรกกับหมอฟันเมื่อไรดี
       
       ควรพาเด็กไปพบหมอฟันครั้งแรกภายใน 6 เดือนหลังจากฟันน้ำนมซี่แรกขึ้น เพื่อรับคำแนะนำวิธีการดูแลสุขภาพช่องปาก การให้นมอย่างถูกวิธี การเลิกขวดนม รวมถึงอาหารและขนมต่างๆ ที่มีประโยชน์ ไม่ก่อให้เกิดฟันผุ ทั้งหมดที่กล่าวมานี้จะเป็นการป้องกันโดยมุ่งหวังให้ผู้ปกครองรู้จักวิธีการดูแลและเลี้ยงดูเด็กอย่างถูกต้องก่อนที่จะเกิดปัญหาใดๆ ขึ้น ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างประสบการณ์ที่ดีในการทำฟันแก่เด็ก อันจะนำไปสู่การมีทัศนคติที่ดีต่อการทำฟันต่อไปในอนาคตด้วย การรอให้เด็กมีอาการปวดฟันแล้วจึงพาไปหาหมอจะทำให้เด็กเกิดความรู้สึกในเชิงลบว่าเมื่อใดไปหาหมอฟัน จะต้องมีความเจ็บปวดทำให้เด็กกลัวการทำฟัน โดยเด็กทุกคนควรไปหาหมอฟันสม่ำเสมอทุก 3-6 เดือน
       
       ดื่มนมอย่างไรให้ถูกวิธี
       
       นมมีคุณค่าต่อร่างกายและมีประโยชน์ในการเสริมสร้างกระดูกและฟัน โดยนมแม่คืออาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก แต่ถ้าจำเป็นต้องดูดนมจากขวดควรให้เด็กดูดน้ำตามทุกครั้งหลังดูดนมไม่ควรให้เด็กหลับไปขณะที่ยังมีคราบนมค้างอยู่ในช่องปาก เมื่ออายุประมาณ 1 ปี ควรเริ่มฝึกให้เด็กดื่มนมจากแก้ว และให้ลูกเปลี่ยนจากการดูดนมขวดเป็นดื่มจากแก้วเมื่ออายุไม่เกิน 1.5 ปี นอกจากนี้นมสำหรับเด็กควรเป็นรสจืด และไม่ควรเติมน้ำตาล หรือน้ำผึ้งในนม เพราะจะเป็นการส่งเสริมนิสัยการติดหวาน และทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วน และโรคเบาหวานในอนาคต 
Scroll